สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล : 11. บัญญัติหารวิภังค์

[สารบัญ]
       
       [39] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ บัญญัติ เป็นไฉน
       นิทเทสว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติมีอย่างต่าง ๆ มิใช่น้อย" ดังนี้ เป็นบัญญัติหาระ ฯ
       เทศนา โดยปกติกถาอันใด เทศนานี้ ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติถามว่า ก็เทศนาโดยปกติกถา เป็นบัญญัติอะไรตอบว่า บัญญัติสัจจะ 4 เหมือนอย่างที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "อิทํ ทุกฺขํ" ดังนี้ บัญญัตินี้เป็น นิกเขปบัญญัติ แห่งขันธ์ 5 เป็นนิกเขปบัญญัติแห่งธาตุ 6 ธาตุ 18 อายตนะ 12 และแห่งอินทรีย์ 10 ฯ
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในที่นั้น ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีการเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไปในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศกก่อความยุ่งยาก มีความคับแค้น ดังนี้ ฯ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ฯลฯ ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในที่นั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศกก่อความยุ่งยาก มีความคับแค้น" ดังนี้ ฯ
       บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปภวบัญญัติแห่งทุกข์และสมุทัย ฯ
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มี ชาติชรามรณะต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีความยุ่งยาก ไม่มีความคับแค้น ดังนี้ ฯ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากไม่มีในผัสสาหาร ฯลฯ ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร ฯลฯ ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในอาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติ ชรา มรณะต่อไปดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีความยุ่งยากไม่มีความคับแค้น" ดังนี้ ฯ
       บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ
       [40] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้ไม่ประมาทมีปัญญา มีสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักษุไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "รูปทั้งหลายไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักขุวิญญาณไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักขุสัมผัสไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง" ดังนี้โสตะ ฯลฯ ฆานะ ฯลฯ ชิวหา ฯลฯ กาย ฯลฯ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "ใจไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง"ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "มโนวิญญาณไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "มโนสัมผัสไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "สุขเวทนาทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงรื้อ เธอจงทำลาย จงทำรูปให้เป็นของเล่นสนุกสนานไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาด้วยปัญญา เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นการสิ้นไปแห่งทุกข์ เพราะการสิ้นไปแห่งทุกข์เป็นนิพพาน ฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ เธอจงรื้อ เธอจงทำลาย จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นสนุกสนานไม่ได้ เธอจงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาด้วยปัญญา เพราะการสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นการสิ้นไปแห่งทุกข์ เพราะการสิ้นไปแห่งทุกข์เป็นนิพพาน ฯ บัญญัตินี้ชื่อว่า นิโรธบัญญัติแห่งนิโรธ ชื่อว่า นิพพิทาบัญญัติแห่งความยินดี ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ
       [41] ภิกษุนั้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปฏิเวธบัญญัติแห่งสัจจะทั้งหลาย ชื่อว่า นิกเขปบัญญติแห่งทัสสนภูมิ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งโสตาปัตติผล ฯ
       ภิกษุนั้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวะ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวสมุทัย" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา" ฯ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า อาสวะเหล่านั้นย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า อุปปาทบัญญัติแห่งขยญาณ(ญาณในความสิ้นไป) ชื่อว่า โอกาสบัญญัติแห่งญาณในความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า อารัมภบัญญัติแห่งวิริยินทรีย์ ชื่อว่า อาหฏนาบัญญัติ(นำกิเลสเพียงดังไข่ขางออก) แห่งไข่แมลงวัน ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งภาวนาภูมิ ชื่อว่า อภินิฆาตบัญญัติ (การทำลาย) แห่งอกุศลธรรมอันลามก ฯ
       บัญญัติ เทสนาธรรมจักรดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "นี้ทุกข์" ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ
       "นี้ทุกขสมุทัย" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "นี้ทุกขนิโรธ" ดูกรภิกษุทั้งหลายดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า เทสนาบัญญัติแห่งสัจจะทั้งหลาย ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งสุตมยปัญญา ชื่อว่าสัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ชื่อว่า ปวัตตนาบัญญัติแห่งธรรมจักร ฯ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกข์นี้นั่นแล อันบุคคลควรกำหนดรู้"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "ทุกขสมุทัยนี้นั่นแล อันบุคคลควรละ" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "ทุกขนิโรธนี้นั่นแล อันบุคคลควรกระทำให้แจ้ง" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้นั่นแล อันบุคคลควรเจริญ" ดังนี้ ฯ
       บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า นิกเขปบัญญติแห่งจินตามยปัญญา ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอัญญินทรีย์ ฯ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกข์นี้นั่นแล เราได้กำหนดรู้แล้ว"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ว่า "ทุกขสมุทัยนี้นั่นแล เราละได้แล้ว" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ว่า "ทุกขนิโรธนี้นั่นแล เรากระทำให้แจ้งแล้ว" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้นั่นแล เราก็เจริญแล้ว" ดังนี้ ฯ
       บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งภาวนามยปัญญา ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอัญญาตาวินทรีย์ และชื่อว่า ปวัตตนาบัญญัติแห่งพระธรรมจักร แล ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า"มุนี ได้สละแล้วซึ่งสังขารในภพ อันเป็นเหตุเกิดกรรม ที่ชั่งได้(ตุลํ) และชั่งไม่ได้ (อตุลํ) มีความยินดีในภายใน มีจิตมั่นคงปลงอายุสังขาร(เพราะ) ได้ทำลายกิเลสให้เกิดตนแล้ว ดุจการทำลายเกราะ ฉะนั้น" ฯ
       คำว่า "ตุลํ" ได้แก่ สังขารธาตุ ฯ
       คำว่า "อตุลํ" ได้แก่ นิพพานธาตุ ฯ
       คำว่า "ตุลมตุลญฺจ สมฺภวํ" ได้แก่ อภิญญาบัญญัติแห่งธรรมทั้งปวง และนิกเขปบัญญัติแห่งธัมมปฏิสัมภิทา ฯ
       คำว่า "มุนี ได้สละแล้วซึ่งสังขารในภพ" ได้แก่ ปริจาคบัญญัติแห่งสมุทัยและปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ฯ
       คำว่า "มีความยินดีในภายใน มีจิตมั่นคง" ได้แก่ภาวนาบัญญัติแห่งกายคตาสติ และฐิติบัญญัติแห่งเอกัคคตาจิต ฯ
       คำว่า "ได้ทำลายกิเลสให้เกิดตนแล้ว ดุจการทำลายเกราะ" ได้แก่อภินิพพิทาบัญญัติแห่งจิต (การเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง) เป็นอุปาทานบัญญัติของพระสัพพัญญูพุทธะ เป็นปทาลนาบัญญัติ (ทำลาย) แห่งกระเปาะไข่ คือ อวิชชาฯ
       ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ตุลมตุลญฺจ สมฺภวํ" แปลว่า เป็นเหตุเกิดกรรมที่ชั่งได้และชั่งไม่ได้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะมารว่า"บุคคลใด ได้เห็นทุกข์ มีกามใดเป็นแดนมอบให้ บุคคลนั้นพึงน้อมไปในกามทั้งหลายได้อย่างไร เพราะกามทั้งหลายเป็นเครื่องข้องในโลก บุคคลมีสติ รู้อย่างนี้ พึงศึกษาเพื่อกำจัดกามเหล่านั้น" ฯ
       คำว่า "โย ทุกฺขํ" แปลว่า บุคคลใด....ทุกข์ ได้แก่ เววจนบัญญัติ และปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ฯ คำว่า "ยโตนิทานํ" แปลว่า กามใดเป็นการมอบให้เป็นปภวบัญญัติและปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ฯ คำว่า "อทฺทกฺขิ" แปลว่า ได้เห็นแล้ว เป็นเววจนบัญญัติและปฏิเวธบัญญัติแห่งญาณจักษุ ฯ
       คำว่า "บุคคลนั้น พึงน้อมไปในกามทั้งหลายได้อย่างไร" เป็นเววจนบัญญัติและอภินิเวสบัญญัติแห่งกามตัณหา ฯ คำว่า "เพราะรู้กามทั้งหลายเป็นเครื่องข้องในโลก" เป็นทัสสนบัญญัติโดยเป็นข้าศึกแห่งกามทั้งหลาย ฯ จริงอยู่ กามทั้งหลายเปรียบเทียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เปรียบเหมือนเหว และอสรพิษ ฯ
       คำว่า "เตสํ สติมา" แปล มีสติ.... แห่งกามเหล่านั้น เป็นอปจยบัญญัติ(บัญญัติไม่สั่งสมไว้) แห่งสาระ เป็นนิกเขปบัญญัติแห่งกายคตาสติ และเป็นภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ฯ
       คำว่า "วินยาย สิกฺเข" แปลว่า พึงศึกษาเพื่อการกำจัด เป็นปฏิเวธบัญญัติแห่งการกำจัดราคะ การกำจัดโทสะ การกำจัดโมหะ ฯ
       คำว่า "ชนฺตุ" (บุคคล) เป็นเววจนบัญญัติแห่งพระโยคี จริงอยู่ ในกาลใดพระโยคีใด รู้ว่า "กามทั้งหลายเป็นเครื่องข้อง" ดังนี้ ในกาลนั้น พระโยคีนั้นย่อมยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กามทั้งหลายเกิดขึ้น พระโยคีนั้นย่อมพยายามเพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น บัญญัตินี้ เป็นวายามบัญญัติเพื่อการบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เป็นนิกเขปบัญญัติของบุคคลผู้ไม่ยินดีโลกียธรรมในคำว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเป็นต้นนั้น พระโยคีนั้น ย่อมพยายาม เพื่อดำรงอยู่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ บัญญัตินี้ เป็นอัปปมาทบัญญัติแห่งภาวนาเป็นนิกเขปบัญญัติแห่งวิริยินทรีย์ เป็นอารักขบัญญัติแห่งกุศลธรรม เป็นฐิติ-บัญญัติแห่งอธิจิตตสิกขา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"บุคคลใด ได้เห็นทุกข์แล้ว มีกามใดเป็นแดนมอบให้" เป็นต้น ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"สัตวโลก มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมเห็นเหมือนมีรูปที่ยั่งยืนคนพาลมีอุปธิเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว ย่อมปรากฏราวกะว่าเที่ยงยั่งยืน กิเลสเป็นเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บัณฑิตผู้เห็นอยู่" ฯ
       คำว่า "สัตวโลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน" เป็นเทสนาบัญญัติแห่งวิปลาส ฯ
       คำว่า "ย่อมเห็นเหมือนมีรูปที่ยั่งยืน" เป็นวิปริตบัญญัติของโลก ฯ
       คำว่า "คนพาล มีอุปธิเป็นเครื่องผูกไว้" เป็นปภวบัญญัติแห่งการท่องเที่ยวของตัณหาอันลามก เป็นกิจจบัญญัติของปริยุฏฐาน เป็นพลวบัญญัติของกิเลสทั้งหลาย เป็นวิรุหนาบัญญัติ (บัญญัติที่งอกงาม) แห่งสังขารทั้งหลาย ฯ
       คำว่า "ถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว" เป็นเทสนาบัญญัติ และเป็นเววจนบัญญัติแห่งความโง่เขลา คือ อวิชชา ฯ
       คำว่า "ย่อมปรากฏราวกะว่าเที่ยงยั่งยืน" เป็นทัสสนบัญญัติแห่งทิพยจักษุเป็นนิกเขปบัญญัติแห่งปัญญาจักษุ ฯ
       คำว่า "กิเลสเครื่องกังวล ย่อมไม่มีแก่บัณฑิตผู้เห็นอยู่" เป็นปฏิเวธบัญญัติของสัตว์ทั้งหลาย ก็กิเลสเครื่องกังวล คืออะไร กิเลสเครื่องกังวล คือ ราคะกิเลสเครื่องกังวล คือ โทสะ กิเลสเครื่องกังวล คือ โมหะ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"สัตวโลก มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน" เป็นต้น ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติ อันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออก(นิสสรณะ) ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ เพราะฉะนั้นการสลัดออก ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้วที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ" ดังนี้ ฯ ข้อว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้" ดังนี้บัญญัตินี้เป็นเทสนาบัญญัติ และเป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน ฯ ข้อว่า"การสลัดออก ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้" ดังนี้ เป็นเววจนบัญญัติแห่งสังขตะ และเป็นอุปนยนบัญญัติ (บัญญัติที่น้อมเข้าไปใกล้) แห่งสังขตะ ฯ ข้อว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่" ดังนี้ เป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน และเป็นโชตนาบัญญัติ (บัญญัติการอธิบาย) แห่งนิพพาน ฯ
       ข้อว่า "เพราะฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ" ดังนี้ บัญญัตินี้เป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน เป็นนิยยานิกบัญญัติแห่งมรรค เป็นนิสสรณบัญญัติจากสังสาระ ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "โน เจตํภิกฺขเว อภวิสฺส" ดังนี้ ฯ
       ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ" ดังนี้ ฯ
       จบ บัญญัติหารวิภังค์
       12. โอตรณหารวิภังค์
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)